เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์ชูชก
[1944] ฉันจักนำพระกุมารทั้ง 2 มาให้เป็นทาส
พระกุมารทั้ง 2 องค์นั้นเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
จักปรนนิบัติเธอทั้งกลางคืนและกลางวัน
[1945] พราหมณ์ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม
ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็สวมรองเท้า พร่ำสั่งเสียต่อไป
ทำประทักษิณภรรยาแล้ว
[1946] พราหมณ์นั้นสมาทานวัตร มีน้ำตานองหน้า
หลีกไปยังนครอันเจริญรุ่งเรืองของชาวกรุงสีพี
เที่ยวไปแสวงหาทาส
[1947] พราหมณ์ชูชกนั้นไปในเมืองนั้นแล้ว
ได้ถามชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นว่า
พระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่ไหน
เราจะไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ได้ที่ไหน
[1948] ชนเหล่านั้นผู้มาประชุมกัน ณ ที่นั้น
ได้ตอบพราหมณ์ชูชกนั้นไปว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงถูกขับไล่ไปจากแคว้นของพระองค์
บัดนี้ ประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[1949] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงทรงพาพระโอรสและพระชายา
ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[1950] พราหมณ์ชูชกนั้นเป็นผู้มีความติดใจในกาม
ถูกนางพราหมณีอมิตตตาตักเตือน
จึงได้เสวยทุกข์เป็นอันมากในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อาศัยอยู่ของแรดและเสือเหลือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :488 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์ชูชก
[1951] แกถือไม้เท้าสีเหมือนผลมะตูม เครื่องบูชาไฟ และเต้าน้ำ
เข้าไปสู่ป่าใหญ่ ในที่ที่จะได้ทราบข่าว
พระเวสสันดรผู้ประทานสิ่งที่น่าใคร่
[1952] เมื่อแกเข้าไปยังป่าใหญ่ ถูกฝูงสุนัขรุมล้อมกัด
แกร้องเสียงหลง เดินผิดทางถอยห่างออกไปจากทาง
[1953] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นผู้โลภในโภคะ ไม่สำรวม
เดินผิดทางที่จะไปยังเขาวงกต ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[1954] ใครเล่าจะพึงบอกพระราชบุตร
พระนามว่าเวสสันดรผู้ประเสริฐสุด
ทรงชนะความตระหนี่ที่ใคร ๆ ให้แพ้ไม่ได้
ประทานความปลอดภัยในเวลามีภัยแก่เรา
[1955] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจก
เหมือนธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังธรณีแก่เราได้
[1956] พระองค์ทรงเป็นที่เข้าเฝ้าของพวกยาจก
เหมือนสาครเป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังทะเลแก่เราได้
[1957] ใครจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนห้วงน้ำมีท่าสวยงาม สะอาด
มีน้ำเยือกเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
สะพรั่งไปด้วยเกสรดอกบัวแก่เราได้
[1958] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :489 }